วิจัยล่าสุด World Bank ชี้ LGBT ไทยถูกเลือกปฏิบัติอย่างน่าเป็นห่วง

วิจัยล่าสุด World Bank ชี้ LGBT ไทยถูกเลือกปฏิบัติอย่างน่าเป็นห่วง

ถ้าบุคคลเหล่านี้เป็นลูกหลาน หรือพี่น้องของคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร?

“พวกเขาบอกว่า ตำแหน่งงานนี้ สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่ใช่ผู้หญิง…ทางผู้ใหญ่เขาต้องการผู้หญิง ‘แท้ๆ’ เธอไม่ใช่ผู้หญิง เธอมีคำนำหน้าชื่อว่า ‘นาย’” (บุคคลเพศกำกวมวัย 27 ปี)

“เมื่อฉันต้องติดต่อธนาคาร พวกเขาก็มักจะมีปัญหากับบัตรประชาชนของฉัน
…พวกเขามักจะสงสัย และบอกว่าต้องสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม” (ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 20 ปี)

หรือคุณทำงานเก่งมาก บรรลุวัตถุประสงค์ของทุกงาน ได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน และลูกค้า แต่หัวหน้างานของคุณพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้อีกคน เพราะ…คุณเป็นเกย์ / ทอม

ต้องขอบคุณงานวิจัยและสำรวจสถานะ LGBT ไทยโดยธนาคารโลก ในเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่น่างๆ ในรายงานล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยออกมา ที่มีชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย (Economic Inclusion of LGBTI in Thailand in 2018) 

ที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะมีสถานะและโอกาสที่จะ “เป็นผู้นำในระดับโลกด้านการมีส่วนร่วมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และสามารถที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย”

แต่พอมาดูสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ก็ดูจะเป็น “งานช้าง” ไม่น้อย ถ้าไทยจะเป็นต้นแบบอันดีงามในเรื่องนี้ เพราะในหลายภาคส่วน LGBT ถูกเลือกปฏิบัติ และปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ไม่ว่าในเรื่องของโอกาสในการทำงาน การรับบริการของรัฐ การศึกษาหรือฝึกอบรม และบริการด้าน

สาธารณสุข ตลอดจนการซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน และการประกันสุขภาพ

ที่น่าสนใจมากๆ คือ รายงานฉบับนี้มีส่วนพิเศษตรงที่มีการสำรวจความเห็นของบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ LGBT จำนวนถึง 1,200 คนว่ามีมุมมองต่อกลุ่ม LGBT อย่างไร นอกเหนือจากการสำรวจกลุ่ม LGBT ขนาดใหญ่ถึง 3,502 คน ผ่านแบบสอบถาม นับเป็นการสำรวจกลุ่ม LGBT ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาในหัวข้อการเลือกปฏิบัตื

อยากจะหยิบยกบางเรื่องที่สะท้อนภาพความทุกข์ใจที่น้อยสื่อนักมักจะพูดถึง เพราะสื่อส่วนใหญ่นำเสนอภาพความสนุกสนานในชีวิต สารพันบันเทิง ความผิดพลาดของการดำเนินชีวิต และภาพฉาบหน้าว่า LGBT ไทย ช่าง “โชคดี” อะไรเช่นนี้ที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย 

เชื่อหรือไม่ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของ LGBT บอกว่า ใบสมัครงานมักจะโดนปฏิเสธ “ด้วยเหตุแห่งการมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”

กรณีเข้าทำงานแล้ว การสำรวจพบว่า ร้อยละ 40 ของของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นบุคคลข้ามเพศ เคยถูกละเมิดทางเพศ หรือล้อเลียนในที่ทำงาน 

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ที่เป็นเกย์ ร้อยละ 22.7 ระบุว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

แม้บางคนต้องการเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน แต่กลับถูกห้าม ในประเด็นนี้ มีถึงร้อยละ 24.5 ของเลสเบี้ยน เกย์ และคนข้ามเพศที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยตัว

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังต้องเพิ่มเติมบนความไม่ต้องแปลกใจด้วยว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในกลุ่มนี้ เกินกว่าครึ่ง และไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ เกินกว่าสองในสาม บอกว่า ไม่รู้ว่ามีกฎหมายดังกล่าวอยู่ (พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558)

ต้องบอกว่า รายงานฉบับนี้ ได้ชี้ให้เห็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วงจากสังคมส่วนใหญ่ที่มองคนกลุ่มนี้ และเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนความคิดนึกของคนได้ โดยมี คนจำนวนหนึ่งในสาม ที่ไม่ใช่ LGBT (ร้อยละ 37.4) บอกว่า

“ยอมรับได้หากผู้ว่าจ้างเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” และน่าเศร้าใจที่เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48 ที่ไม่ใช่ LGBT บอกว่า

“เป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว ที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประสบกับการเลือกปฏิบัติบางรูปแบบในเวลาที่เข้าใช้บริการรัฐ”

คุณมีคนที่รัก หรือสนิทด้วยเป็น LGBT มั๊ย?


ผู้เขียน: วิทยา แสงอรุณ