“ขอบคุณครับแม่ ที่เชื่อในสิ่งที่ผมรัก”
เด็กผู้ชายวัยอนุบาลกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ ประตูเปิดออก คุณแม่มองมาที่ลูกน้อยอย่างไม่เชื่อสายตา ลูกชายกำลังเอาลิปสติกมาทาปากตัวเองจนเลอะเทอะไปหมด สีหน้าของคุณแม่แสดงความกังวลจนคนดูลุ้นว่า เธอจะทำอะไรต่อไป
ภาพในหัว เธอเห็นตัวเองไม่พอใจ เห็นตุ๊กตาในบ้าน รูปถ่ายต่างๆ มีสีทาไปที่ปากเต็มไปหมด ในหัวของเธอ เธอกำลังเกรี้ยวกราดกับลูกน้อยอย่างอารมณ์เสียที่สุด และเป็นภาพที่เธอรับไม่ได้
แต่แล้ว เธอเลือกที่จะไม่ห้ามปราม แต่ปล่อยให้ลูกน้อยค้นหา เธอเอาใบหน้าของเธอเองให้ลูกละเลงทาลิปสติก ภาพตัดกลับไป เขาได้เป็นศิลปินตัวน้อยที่กำลังทำงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่พร้อมๆ กับเสียงบรรยายประกอบโฆษณาของไทยชิ้นนี้ว่า
“ขอบคุณครับแม่ ที่เชื่อในสิ่งที่ผมรัก”
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น มีร้านขายของแห่งหนึ่ง นิยมชมชอบการดูแลใส่ใจความรู้สีกและความคิดเห็นของลูกค้าเป็นอย่างมาก วันหนึ่งมีใบคอมเม้นท์จากลูกค้าท่านหนึ่ง ส่งเสียงบ่นปนคำสั่งว่า เขาเห็นคู่เกย์เดินจับมือกันเข้ามาที่ร้าน และเริ่มสังเกตเห็นว่า ร้านนี้มีลูกค้าเกย์หนาตามากยิ่งขี้น จนรู้สึก “ขัดหูขัดตา” จึงขอให้ร้านหาทางไม่ให้มีเกย์มาซื้อของที่นี่
ทางผู้บริหารของร้านตอบกลับไปว่า ร้านนี้ให้บริการลูกค้าทุกคนและลูกค้าทุกคนมีความสำคัญ ประกอบกับทางร้านมีลูกจ้างเป็นประชากรกลุ่มนี้ จึงขอแนะนำลูกค้าท่านนี้ว่า
“โปรดอย่ามาใช้บริการที่นี่อีก”
ผมอ่านทวนเนื้อข่าวนี้สองรอบ แบบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ลึกๆ ยังคงสงสัยว่าคนแปลข่าว แปลต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นผิดหรือเปล่า (จากเว็บข่าว Angel ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น)
สองตัวอย่างที่เห็นนี้ เป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งของเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
ในโฆษณาชิ้นแรก (ผลิตภัณฑ์ S26 ของยาสีฟัน Salt) หากเป็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นสัก 10 ปีที่แล้ว คุณแม่คงรี่เข้าไปคว้าลิปสติก แล้วเริ่มสั่งสอน ห้ามปรามลูกด้วยถ้อยคำลบๆ ต่อสิ่งที่ลูกทำ แล้วยัดเยียดสิ่งตรงข้ามให้ลูกอยากทำแทน
ส่วนเหตุการณ์ที่สอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ ผู้บริหารร้านคงร้อนจนต้องส่งจดหมายไปขอโทษขอโพยลูกค้าท่านนั้น เผลอๆ มีแจกของที่ระลึก หรือส่วนลดพิเศษในการมาจับจ่ายใช้สอยครั้งต่อไปให้อีกด้วย
ทั้งสององค์กรนี้มีส่วนหนึ่งที่เหมือนกัน คือ วิสัยทัศน์ สิ่งที่ทั้งสองแห่งนำเสนอ คือ จุดยืนที่แข็งแรงในเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม ที่ควรเริ่มต้นจากที่ทำงานเสียก่อน
ผมเชื่อว่า ลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกเห็น TVC ชิ้นนี้แล้วก็คงอดไม่ได้ที่จะรักและศรัทธาในต้วองค์กรที่พวกเขากำลังทำงานให้ในฐานะที่ใส่ใจในเรื่องนี้ จนกล้าที่จะนำเสนอประเด็นนี้ออกสู่สาธารณชน ส่วนลูกจ้างของร้านญี่ปุ่นนั้นคงยิ่งทุ่มเททำงานให้ร้านของตนยิ่งขึ้นไปอีก ยิงนกทีเดียว ได้คว้าใจพนักงานมาครองทั้งองค์กร
ในยุคปัจจุบัน ที่วากจะซ่อนเร้นการกระทำที่ไม่พัฒนา องค์กรขนาดใหญ่ได้หันมาสนใจเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานมาสักพักหนึ่งแล้ว
ปีล่าสุด ในอเมริกา ดัชนีชี้วัดองค์กรที่ใส่ใจเรื่องนี้ ชื่อว่า Corporate Equality Index 2018 พบว่า ปี 2018 นี้ มีจำนวนองค์กรที่ถูกคัดเลือกและสามารถทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนน เพิ่มขี้นเป็น 609 องค์กร ในตำแหน่ง “Best Place to Work for LGBTQ Equality” (หรือ สถานที่ที่น่าทำงานที่สุดหลสำหรับบุคคลในกลุ่มหลากหลายทางเพศ)
ดัชนีนี้มีความน่าเชื่อถือสูง ด้วยมีการเก็บข้อมูลมานาน จัดทำโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อดัง คือ Human Rights Campaign โดยในปี 2002 หรือกว่า 16 ปีที่แล้ว มีองค์กรจากหลายภาคส่วนทำคะแนนเต็มร้อย เพียงแค่ 13 แห่งเท่านั้น ในองค์กรจำนวน 600 กว่าแห่งนี้ ที่ได้คะแนนเต็มร้อย มีหลายแห่งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจอยู่ในระดับข้ามชาติ และยังเป็นบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 อีกกว่าครึ่งอีกด้วย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Corporate Equality Index 2018)
ทิศทางที่น่าสนใจคือ บริษัทในกลุ่ม Fortune 500 เกือบทั้งหมด มีการนำนโยบายเกี่ยวกับ “Sexual Orientation” หรือการไม่เลือกปฏิบัติจากความพึงพอใจทางเพศของลูกจ้าง ไปใช้ปฏิบัติแล้ว และบางแห่งก็เพิ่มเติม เรื่อง “Gender Identity” หรืออัตลักษณ์ทางเพศให้เป็นนโยบายเพื่อดูแลพนักงานอย่างทั่วถึง
ในประเทศไทย ก็เริ่มมีแนวคิดในการปฏิบัติลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน แล้วบ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุมในหลายๆ ด้านมากน้ก
พนักงานเกย์ที่มีคู่ ย่อมรู้สึกได้ว่า ถูกเลือกปฏิบัติ หรือไม่ได้ใช้สิทธิ์อันพึงมีแบบพนักงานที่แต่งงานแล้ว ตัวอย่าง เช่น เงินสินสมรส บางแห่งมีเงินก้อนนี้ให้ชายหญิงเท่านั้น แต่คู่ชายชาย หรือหญิงหญิง ที่อยู่กินกันมานาน ก็ไม่ได้สิทธิ์นี้ แต่องค์กรประกันชีวิตแห่งหนี่งในไทยได้ปรับปรุงนโยบายนี้แล้ว โดยให้สิทธิ์คู่ชายชาย หรือหญิงหญิงที่มีหลักฐานการเป็นคู่อย่างแท้จริงมาแสดง ก็จะได้สิทธิ์นี้เช่นกัน
ในเรื่องนี้ กำลังเป็นทิศทางที่ต้องเรียกร้องให้มีการรับรองสถานะคู่ชีวิตของคู่เพศเดียวกัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพี่ใหญ่ในการเปิดกว้างเรื่องความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง
กฎหมายจดทะเบียนคู่เพศเดียวกันกำลังได้รับความสนใจมากยิ่งขี้น สังเกตเห็นได้ว่า ไม่มีหน่วยงานไหนของภาครัฐแสดงอาการคัดค้าน และยิ่งช่วงก่อนการเลือกตั้ง (ถ้ามี) บรรดาพรรคการเมืองที่ฉลาดก็จะไม่พลาดที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาเรียกคะแนนเสียง
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องมีการเทรนนิ่งเรื่องพวกนี้ในประเด็น หรือ 6 มุมมองต่อไปนี้ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน (มาจาก Corporate Equality Index 2018)
Sexuaul Orientation
Gender Identity
Domestic Partner Benefits
Trangender-Inclusive Benefits
Organizational LGBTQ Competency
Public Commitment on the LGBTQ Community
ซึ่งโดยรวมแล้ว ในองค์กรและหน่วยงานในประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้เป็นจำนวนน้อยมาก แต่เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขี้นในสังคม จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้องค์กรและหน่วยงานหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว
คิดง่ายๆ ว่า พนักงานมากฝีมือคนหนึ่งเป็นเกย์ และเกิดมีคู่ แต่องค์กรไม่อยากรับรู้ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ วันหนึ่ง มีองค์กรคู่แข่ง มีนโยบาลสนับสนุนความเท่าเทียมกัน รวมถึงคู่เพศเดียวกัน มาดึงตัวไปด้วยผลประโยชน์ด้านนี้ จะเกิดอะไรขึ้น?
องค์กรต่างรู้ดีว่า ต้นทุนการรับสมัครและเทรนพนักงานใหม่เป็นราคาค่างวดที่ไม่น้อย และเมื่อสูญเสียพนักงานที่มากฝีมือไป ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง