ถ้าบุคคลเหล่านี้เป็นลูกหลาน หรือพี่น้องของคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร?

“พวกเขาบอกว่า ตำแหน่งงานนี้ สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่ใช่ผู้หญิง…ทางผู้ใหญ่เขาต้องการผู้หญิง ‘แท้ๆ’ เธอไม่ใช่ผู้หญิง เธอมีคำนำหน้าชื่อว่า ‘นาย’” (บุคคลเพศกำกวมวัย 27 ปี)

“เมื่อฉันต้องติดต่อธนาคาร พวกเขาก็มักจะมีปัญหากับบัตรประชาชนของฉัน
…พวกเขามักจะสงสัย และบอกว่าต้องสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม” (ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 20 ปี)

หรือคุณทำงานเก่งมาก บรรลุวัตถุประสงค์ของทุกงาน ได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน และลูกค้า แต่หัวหน้างานของคุณพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้อีกคน เพราะ…คุณเป็นเกย์ / ทอม

ต้องขอบคุณงานวิจัยและสำรวจสถานะ LGBT ไทยโดยธนาคารโลก ในเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่น่างๆ ในรายงานล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยออกมา ที่มีชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย (Economic Inclusion of LGBTI in Thailand in 2018) 

ที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะมีสถานะและโอกาสที่จะ “เป็นผู้นำในระดับโลกด้านการมีส่วนร่วมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และสามารถที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย”

แต่พอมาดูสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ก็ดูจะเป็น “งานช้าง” ไม่น้อย ถ้าไทยจะเป็นต้นแบบอันดีงามในเรื่องนี้ เพราะในหลายภาคส่วน LGBT ถูกเลือกปฏิบัติ และปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ไม่ว่าในเรื่องของโอกาสในการทำงาน การรับบริการของรัฐ การศึกษาหรือฝึกอบรม และบริการด้าน

สาธารณสุข ตลอดจนการซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน และการประกันสุขภาพ

ที่น่าสนใจมากๆ คือ รายงานฉบับนี้มีส่วนพิเศษตรงที่มีการสำรวจความเห็นของบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ LGBT จำนวนถึง 1,200 คนว่ามีมุมมองต่อกลุ่ม LGBT อย่างไร นอกเหนือจากการสำรวจกลุ่ม LGBT ขนาดใหญ่ถึง 3,502 คน ผ่านแบบสอบถาม นับเป็นการสำรวจกลุ่ม LGBT ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาในหัวข้อการเลือกปฏิบัตื

อยากจะหยิบยกบางเรื่องที่สะท้อนภาพความทุกข์ใจที่น้อยสื่อนักมักจะพูดถึง เพราะสื่อส่วนใหญ่นำเสนอภาพความสนุกสนานในชีวิต สารพันบันเทิง ความผิดพลาดของการดำเนินชีวิต และภาพฉาบหน้าว่า LGBT ไทย ช่าง “โชคดี” อะไรเช่นนี้ที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย 

เชื่อหรือไม่ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของ LGBT บอกว่า ใบสมัครงานมักจะโดนปฏิเสธ “ด้วยเหตุแห่งการมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”

กรณีเข้าทำงานแล้ว การสำรวจพบว่า ร้อยละ 40 ของของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นบุคคลข้ามเพศ เคยถูกละเมิดทางเพศ หรือล้อเลียนในที่ทำงาน 

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ที่เป็นเกย์ ร้อยละ 22.7 ระบุว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

แม้บางคนต้องการเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน แต่กลับถูกห้าม ในประเด็นนี้ มีถึงร้อยละ 24.5 ของเลสเบี้ยน เกย์ และคนข้ามเพศที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยตัว

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังต้องเพิ่มเติมบนความไม่ต้องแปลกใจด้วยว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในกลุ่มนี้ เกินกว่าครึ่ง และไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ เกินกว่าสองในสาม บอกว่า ไม่รู้ว่ามีกฎหมายดังกล่าวอยู่ (พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558)

ต้องบอกว่า รายงานฉบับนี้ ได้ชี้ให้เห็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วงจากสังคมส่วนใหญ่ที่มองคนกลุ่มนี้ และเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนความคิดนึกของคนได้ โดยมี คนจำนวนหนึ่งในสาม ที่ไม่ใช่ LGBT (ร้อยละ 37.4) บอกว่า

“ยอมรับได้หากผู้ว่าจ้างเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” และน่าเศร้าใจที่เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48 ที่ไม่ใช่ LGBT บอกว่า

“เป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว ที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประสบกับการเลือกปฏิบัติบางรูปแบบในเวลาที่เข้าใช้บริการรัฐ”

คุณมีคนที่รัก หรือสนิทด้วยเป็น LGBT มั๊ย?


ผู้เขียน: วิทยา แสงอรุณ