ใครจะเชื่อว่า ‘โรงเรียนกฎหมาย’ แห่งแรกของประเทศไทย อายุเกือบ 90 ปีแห่งนี้ จะหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ในทุก ๆ ด้าน?
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 บนเว็บไซต์ของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีโพสต์ประกาศที่ใครๆ อ่านแล้วต้องแปลกใจ กับข้อความที่สื่อสารกับสาธารณะ ต้องบอกว่า ‘ล้ำ’ มากสำหรับอุดมศึกษาในวงการการศึกษาด้านกฎหมายของไทย
ประกาศคุณค่าและนโยบายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายทางเพศ
ประกาศที่ออกสู่สายตาประชาชนในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่ทั่วโลกจัดไว้ให้เป็น ‘Pride Month’ เพื่อเปิดโอกาสให้ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในทุกๆ วงการเกิดขึ้น เป็นเวลาที่ตรงกันโดยบังเอิญ หรือเพราะจังหวะมันได้?
ทำไมอยู่ๆ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถึงมาให้ความสำคัญเรื่องนี้?
“ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เคยอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้หญิงค่ะ ตอนนั้นเสียงจากคนรอบตัวที่หวังดีกับเรามากๆ บอกว่า อย่าเปิดเผยเลยนะ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาในการหางานในอนาคต จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมได้อย่างไร”
ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU Health & Wellness เล่า
อาจารย์โบว์’ เชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว และรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความอึดอัด และความเจ็บปวด
“พอจุดเริ่มแรกถูกเซ็ตมาแบบนั้น บอกตรงๆ เลยว่าตลอดเวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์มันอยู่ด้วยความหวาดกลัว อยู่ด้วยความรู้สึกว่าการอยู่ในความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันมันด้อยกว่าคนอื่นเหรอ ถึงวันนี้เรายังจำความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกหวาดกลัวนั้นได้
ประกอบกับตอนนั้นมีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศอีกแบบ และเรารู้ว่าเขาจะต้องปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศ เราก็คิดไปว่า คนที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เลยอย่างเสรี มันจะถูกกดทับและถูกบั่นทอนจิตใจมากแค่ไหน ในขณะที่เรายังสามารถแต่งตัวและเป็นตัวของเองได้ เพียงแค่กลัวที่จะต้องเปิดเผยเรื่องของคนรักเท่านั้น”
ความคิดนั้นยังคงดังก้องอยู่ ทำให้อาจารย์นิติศาสตร์ท่านนี้ให้สัญญากับตัวเองว่า มันไม่ควรที่จะต้องมีคนมาถูกบั่นทอน ถูกกดทับแบบนี้อีกแล้ว
แม้ตอนนี้เธอจะไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์นั้นแล้ว และเดตกับผู้ชาย แต่ยังจดจำความรู้สึกนั้นไว้เพื่อเป็นพลังในการทำงานด้านนี้ต่อไป โดยไม่ได้ปิดบังอดีต บุคคลท่านนี้น่าจะเป็นอาจารย์ของคณะนี้เพียงไม่กี่คน หรือไม่ก็อาจเป็นคนแรกเลยก็ว่าได้ที่กล้าเล่าเรื่องนี้ให้นักศึกษาฟัง ‘อย่างเปิดเผย’ และทำให้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่สุด
ความรู้สึกปลอดภัยและให้ความเคารพในตัวตนกันและกันได้รับการตอกย้ำมากขึ้น เมื่อเธอได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา ในช่วงที่กำลังศึกษาต่อปริญญาเอก และได้เห็นอะไรบางอย่างที่เกิดแรงบันดาลใจและความคิดต่างๆ
“ทุก ๆ ที่ในมหาวิทยาลัยจะมีโปสเตอร์ประกาศว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย จะไม่ยอมรับการกระทำอันเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน หรือเลือกปฏิบัติใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกสบายใจและมั่นใจ เพราะพอเรารู้ว่าสถาบันหรือองค์กรนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เราสามารถเปิดเผยได้ ถ้ามีใครมาถามว่ามีแฟนหรือยัง เราก็เล่าได้ปกติ อันนี้คือหนึ่งในแรงบันดาลใจ”
เมื่อได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ เธอจึงเกิดไอเดียว่าอยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นรูปธรรม เริ่มแรกด้วยการเล่าเรื่องตัวเองให้เป็นเหมือน ‘เรื่องปกติ’ อย่าง “เราเคยมีแฟนเป็นผู้หญิงนะ” ทำให้นักศึกษารู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องปกปิด พอมีแรงสนับสนุนมากขึ้น ก็ชวนกลุ่มนักศึกษาที่สนิทและสนใจมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน
“ทุกๆ ครั้งที่คุยกับนักศึกษา พวกเขาจะมีคำถามว่า ถ้าเราทำกิจกรรมแล้ว คณะจะว่าอย่างไรเหรอ คณะจะโอเคไหม อาจารย์จะโอเคไหม มันสัมผัสได้ถึงความกลัวบางอย่างค่ะ รู้เลยว่าการที่คณะจะออกมาประกาศนโยบาย ประกาศคุณค่า ยอมรับ และสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”
จากการคุยกับนักศึกษาปีสี่เพียงหนึ่งคน ค่อยๆ รวมกันตัวกันเป็นกลุ่มนักศึกษาที่หลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งมีเพื่อนชายหญิงทั่วไปและกลุ่มที่ไม่ระบุเพศมาช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน หลายสิ่งหลายอย่างของคณะเริ่มก่อร่างขึ้น
Clubhouse มิติใหม่ของการเปิดโอกาสให้พูด ให้คิด
คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่มีวัฒนธรรมเปิดในเรื่องคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน จนเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปอยู่แล้ว และที่ผ่านมาที่นี่ก็ให้ความสนใจเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และกฎหมายเรื่องความเท่าเทียม มีการจัดสัมมนาและอภิปรายอยู่บ่อยครั้ง
“น่าจะเป็นช่วงเวลาที่โชคดีมากๆ ที่คณบดี ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เปิดกว้างมาก เราก็จัด Clubhouse ให้ทุกคนมาช่วยกันเล่าว่ามีปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกล้อเลียนอะไรบ้างในคณะ คณะอาจารย์ก็เปิดกว้าง ช่วยกันแชร์โพสต์ ช่วยกันพีอาร์กิจกรรม และไม่ว่าจะติดต่อไปในทางส่วนตัวกับอาจารย์ท่านไหนในคณะ ทุกคนก็พร้อมสนับสนุน ช่วยโปรโมต มันเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างราบรื่นมากค่ะ”
เป้าหมายของโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มเลยก็คือ คณะต้องประกาศจุดยืน ‘อย่างเป็นทางการ’ และนั่นคือสิ่งที่ได้แสดงผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและกำลังสร้างแรงกระเพื่อมอย่างน่าสนใจยิ่ง
“จากไอเดียนักศึกษาเอง นักศึกษาเป็นแรงบันดาลใจ อย่างเช่น ตลอดเดือนมิถุนายนเราจะต้องขึ้นสีรุ้งตลอดทั่วทั้งคณะ นี่ถ้าเปิดตึกคณะได้ก็คงมีธงรุ้งนะ ตอนนี้ (ติดปัญหาโควิด) เราก็ทำได้แค่ใน Facebook ไปก่อน”
ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งกำลังมองหาจุดอะไรที่ลงตัว และพยายามหลีกเหตุผลเพื่อ ‘ความเหมาะสม’ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่อง ‘การแต่งกายตามเพศสภาพ’ ‘การแต่งกายในวันรับปริญญาของนักศึกษาข้ามเพศ’ สถาบันผลิตนักกฎหมายเก่าแก่แห่งนี้ได้ประกาศความต้องการเปลี่ยนแปลง ‘ทั้งคณะ’ เพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และนั่นไม่ใช่ประกาศเพื่อความ ‘สวยหรู’ แต่พร้อมที่จะ ‘Action Plan’ ทันที
อาจารย์โบว์เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาสะท้อนมาก็คือ คำถามจากเพื่อนนักศึกษาเรื่อง LGBTQ ที่มีการถามบ่อย จึงคิดที่จะเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเป็นลำดับแรก และนับเป็นภารกิจหลักที่ทางกลุ่มนักศึกษาและคณะจะต้องสื่อสารออกไป
“มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศมีแนวนโยบาย และ Action Plan เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว เราและเพื่อนอาจารย์ก็ไปเก็บรวบรวมข้อมูลมาว่า Action Plan ของเขามีอะไรบ้าง ตั้งแต่คุยเรื่องโครงการนี้จนกระทั่งได้ประกาศเป็นนโยบายนี้ ใช้เวลาแค่ 4 เดือน”
หลังจากนำเสนอความคิด แผนงาน และได้รับความเห็นชอบแล้ว ทางคณะนิติศาสตร์จะมีการทบทวนการปฏิบัติต่างๆ เช่น แบบฟอร์ม คำนำหน้านาม รวมไปถึงข้อความประกาศในการเปิดรับนักศึกษา กระทั่งการประกาศคุณค่าและนโยบายนี้ในงานปฐมนิเทศ
ในการดำเนินการ มีคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค (เป็นคณะกรรมการที่มีอยู่แล้วและดูความเท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น ผู้พิการ) เป็นแม่งาน และตอนนี้กำลังร่วมกันพิจารณาว่าควรยกเลิกการขอคำนำหน้านาม หรือเปิดช่องให้คนกรอกเลือกได้ จากนั้นเตรียมจัดให้มีการสื่อสารภายในให้ชัดเจน
ตั้ง Thammasat Pride and Allies ขับเคลื่อนด้วยพลังนักศึกษาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
นักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวกันตั้ง ‘Thammasat Pride and Allies’ ขึ้นมาเพื่อสร้างแนวร่วม ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของคณะ ตอนนี้กำลังเพิ่มจำนวนผู้ที่สนใจ และมี ‘Mission’ ร่วมกันที่ต้องการขับเคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
‘Respectful Conduct’ (การให้ความเคารพกันและกัน) ที่จัดทำขึ้น แสดงให้เห็นว่า ต่อไปนี้เราจะกำหนดมาตรฐานใหม่ เราจะจริงจังและไม่ปล่อยให้เป็นแค่เรื่อง ‘ขำๆ’ หรือเป็นเรื่องสนุก เรามี Ambition ในการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและให้เกียรติกัน คณะมีนักศึกษาเป็น Trans มี Bisexual มี Non-Binary มี Asexual (กลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ) มหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างทางความคิดและให้ความสำคัญในความหลากหลายนี้”
เธอกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ต่อมาในเดือนเดียวกัน ทางสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ยกระดับระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย โดยให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพได้ จากเดิมเป็นเพียง ‘ระเบียบ’ ต่อมาปรับให้เป็น ‘ข้อบังคับ’ โดยเพิ่มเนื้อหาข้อ 9 ว่า ‘นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศกำเนิดหรือเพศสภาพได้’
“อาจารย์ยินดีมากที่มหาวิทยาลัยเปิดกว้าง อยากเห็นการรวมตัวของนักศึกษาที่เข้มแข็ง อยากเห็นหน่วยสนับสนุนต่างๆ ตัวนักศึกษามีไอเดียดีมาก เช่น อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านจิตใจและอื่นๆ เช่น ในกรณีการ Come-out (การเปิดเผยตัว) กับพ่อแม่ เพื่อนอาจารย์เองที่อาจยังไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ก็น่าจะได้รับการสนับสนุนโดยไม่มีการกดดันใดๆ แต่เริ่มจากการที่ทุกคนช่วยสร้างให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย”
งานท้าทายต่อไปที่อาจจะหินสำหรับคณะนี้ก็คือ วงการกฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่าเป็นพื้นที่ ‘อนุรักษ์นิยมสูง’ ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ ทนายความ หรือแม้กระทั่งอาจารย์ บนความเชื่อที่ว่าเสาหลักแห่งนี้ต้องมี ‘ความน่าเชื่อถือ’ การมี LGBTQ และเปิดเผยตัวเข้าไปทำงานจะส่งผลอะไรหรือไม่?
“ในอนาคตคงเป็นงานใหญ่ที่ต้องค่อยๆ ผลักดันให้เคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลก แคนาดามีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Never Going Back: A History of Queer Activism in Canada หนังสือกล่าวว่า ประเทศเขาเปิดมากแล้ว มันเป็นกระแสไปแล้ว แต่ทุกคนยังต้องรวมพลังเพื่อผลักดันต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้อาจารย์มองในแง่ดีและมีความเชื่อมั่นมากค่ะ”
ความหลากหลายทางเพศ คำถามที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย?
ทำไมคำถามเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่ ไม่หายไป และอะไรเป็นสาเหตุที่ใครหลายๆ คนยังถามอยู่
“มันเป็นความเชื่อที่ส่งทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย เพียงแค่หลายคนอาจไม่เคยตั้งคำถามและมีความกลัวบางอย่างในใจ กลัวความไม่ปลอดภัย เช่น ลูกเราจะอยู่ในสังคมได้ไหม หรือตัวพ่อแม่เองจะอยู่ได้ไหมที่จะต้องเจอกับคำถามจากคนรอบตัว หัวใจหลักก็คือความกลัว อะไรที่แตกออกมาจากสิ่งที่เรายึดถือเดิมอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นลึกๆ ในใจ คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความกลัวนั้นหายไป คำตอบก็คือการสร้างคุณค่าใหม่มาละลายความเชื่อนี้”
ช่วงที่ตัวเองเรียนจบและกำลังจะกลับไทยรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ ด้วยวัยที่ทำให้กลัวว่าจะมีคนถามว่าแต่งงานหรือยัง เลยไปคุยกับเทอราปิสต์ซึ่งเป็นคนเยอรมัน ว่าเราจะบอกกับญาติผู้ใหญ่อย่างไรว่าเราคบผู้หญิง เพราะพวกเขาคงยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เราไม่อยากโกหก อยากให้เกียรติคนที่เรารัก เลยถามเทอราปิสต์ว่าถ้าพูดเรื่องทฤษฎีสังคมชายเป็นใหญ่ดีไหม คำตอบที่ได้กลับมาคือ ในสังคมเยอรมนี เมื่อคนในตำแหน่งสำคัญๆ กล้าออกมาเปิดเผยตัวตนมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ใช่ชีวิตต้องหมดหนทางหรือด้อยกว่า เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นค่อยๆ เปิดจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา คุณค่าของสังคมจะเปลี่ยนไปได้อย่างแน่นอน” ดร.พนัญญากล่าว.
แหล่งที่มา : The Standard
เผยแพร่เมื่อ : 7 กรกกฎาคม 2564
ผู้เขียน : วิทยา แสงอรุณ
ภาพ : The Standard
Link : ต้นฉบับ: ทำไมคณะเก่าแก่แห่งนี้ถึงกลายเป็น LGBTQ-Friendly ได้?